วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ปัญญาสนทนา

        โลกปัจจุบัน เต็มไปด้วยวงประชุมมากมายหลายแบบ หลายประเด็น ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักอย่างแท้จริงว่า การสนทนาหรือการประชุมทุกครั้ง คือ พื้นที่และโอกาส "ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง" และรู้ว่าจะสนทนากันอย่างไร สิ่งที่เกิดจากการสนทนาคืออะไร


 
อดัม คาเฮน (Adam Kahane) วิทยากรนักออกแบบกระบวนการสันติวิธี กล่าวว่า การสนทนามี ๔ ลักษณะ คือ
๐ การสนทนาแบบโต้เถียง (Debate) 
พบได้บ่อยในการประชุมและสนทนาทั่วไป เป็นการพูดคุยแบบปะทะความคิดกัน ถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการปกป้องจุดยืนและความคิดของตัวเอง พยายามทำให้คนอื่นต้องเห็นพ้องตามความคิดของตัวเอง การหาข้อสรุปร่วมกันจึงเป็นไปได้ยาก แต่กลับสร้างความไม่เข้าใจกัน และความบาดหมางให้กันเสียมากกว่า
๐ การสนทนาแบบรับข้อมูลฝ่ายเดียว (Downloading) 
เป็นการรายงานว่าใครทำอะไร ที่ไหน เกิดผลอะไร คิดจะทำอะไร ฯลฯ โดยผลัดกันพูดทีละคน คนใดคนหนึ่งหรือไม่กี่คนพูด ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลือมีหน้าที่รับฟังข้อมูลไป เหมือนการดูด (download) ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง เป็นการสนทนาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ค่อยเกิดความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันอาจไม่เกิดการเรียนรู้ เสนอมุมมองหรือความคิดที่แตกต่าง ไม่มีการร่วมคิดกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปใหม่ มักเกิดในการประชุมข้าราชการ หรือองค์กรเชิงอำนาจ ที่ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้พูดให้ผู้ร่วมประชุมรับทราบแล้วนำไปปฏิบัติตาม จึงเป็นการสนทนาที่จืดชืด ไร้ชีวิตชีวา
๐ สุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือสานเสวนา เสวนาประสานใจ เป็นแนวทางการสนทนาที่เดวิด โบห์ม นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เป็นผู้คิดค้น ไม่ใช่การพูดจาด้วยความสุภาพ เห็นอกเห็นใจ และไม่โต้แย้งกัน แต่แก่นสารหลักของการสนทนา คือการก่อให้เกิดความหมาย (ใหม่) เกิดความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน และเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้ร่วมสนทนา
หัวใจของสุนทรียสนทนาอยู่ที่การพูดคุยอย่างเปิดใจและรับฟังซึ่งกันและกัน ผู้ร่วมวงสนทนาต้องมีสติรู้ตัว ว่ากำลังพูดอะไร พูดจากสมมุติฐานแบบไหน พูดเพื่ออะไร พูดแล้วทำให้ผู้สนทนาในวงรู้สึกอย่างไร และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อหาความหมายของสิ่งที่กำลังสนทนาร่วมกัน จึงต้องสามารถห้อยแขวนความคิดความเชื่อของตนเอง ชะลอการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ความคิดใหม่ๆ ผุดออกมา โดยไม่โน้มน้าวให้ผู้อื่นมีความคิดเห็นเหมือนตนเอง เป็นต้น
๐ ปัญญาสนทนา (Presencing) การสนทนาก่อพลังปัญญาและสร้างอนาคต เป็นการต่อยอดทักษะของสุนทรียสนทนา เพราะนอกจากการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกันแล้ว ยังต้องมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ จากการสนทนา จนเกิดเป็นความเห็นใหม่ เป็นปัญญาร่วมของกลุ่ม ผู้ร่วมสนทนาจะต้องมองเห็นเรื่องราวจากอดีต เชื่อมโยงกับปัจจุบัน และเห็นแนวโน้มในอนาคต เพื่อช่วยกันกำหนดท่าทีและทิศทางต่ออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง จะช่วยให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ไม่ตื่นตระหนกตกใจ
ที่มา: แกะรอยกระบวนการเรียนรู้ : แนวคิดและการออกแบบ
#เวทีเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

        โลกปัจจุบัน เต็มไปด้วยวงประชุมมากมายหลายแบบ หลายประเด็น ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักอ...