วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ปัญญาสนทนา

        โลกปัจจุบัน เต็มไปด้วยวงประชุมมากมายหลายแบบ หลายประเด็น ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักอย่างแท้จริงว่า การสนทนาหรือการประชุมทุกครั้ง คือ พื้นที่และโอกาส "ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง" และรู้ว่าจะสนทนากันอย่างไร สิ่งที่เกิดจากการสนทนาคืออะไร


 
อดัม คาเฮน (Adam Kahane) วิทยากรนักออกแบบกระบวนการสันติวิธี กล่าวว่า การสนทนามี ๔ ลักษณะ คือ
๐ การสนทนาแบบโต้เถียง (Debate) 
พบได้บ่อยในการประชุมและสนทนาทั่วไป เป็นการพูดคุยแบบปะทะความคิดกัน ถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการปกป้องจุดยืนและความคิดของตัวเอง พยายามทำให้คนอื่นต้องเห็นพ้องตามความคิดของตัวเอง การหาข้อสรุปร่วมกันจึงเป็นไปได้ยาก แต่กลับสร้างความไม่เข้าใจกัน และความบาดหมางให้กันเสียมากกว่า
๐ การสนทนาแบบรับข้อมูลฝ่ายเดียว (Downloading) 
เป็นการรายงานว่าใครทำอะไร ที่ไหน เกิดผลอะไร คิดจะทำอะไร ฯลฯ โดยผลัดกันพูดทีละคน คนใดคนหนึ่งหรือไม่กี่คนพูด ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลือมีหน้าที่รับฟังข้อมูลไป เหมือนการดูด (download) ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง เป็นการสนทนาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ค่อยเกิดความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันอาจไม่เกิดการเรียนรู้ เสนอมุมมองหรือความคิดที่แตกต่าง ไม่มีการร่วมคิดกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปใหม่ มักเกิดในการประชุมข้าราชการ หรือองค์กรเชิงอำนาจ ที่ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้พูดให้ผู้ร่วมประชุมรับทราบแล้วนำไปปฏิบัติตาม จึงเป็นการสนทนาที่จืดชืด ไร้ชีวิตชีวา
๐ สุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือสานเสวนา เสวนาประสานใจ เป็นแนวทางการสนทนาที่เดวิด โบห์ม นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เป็นผู้คิดค้น ไม่ใช่การพูดจาด้วยความสุภาพ เห็นอกเห็นใจ และไม่โต้แย้งกัน แต่แก่นสารหลักของการสนทนา คือการก่อให้เกิดความหมาย (ใหม่) เกิดความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน และเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้ร่วมสนทนา
หัวใจของสุนทรียสนทนาอยู่ที่การพูดคุยอย่างเปิดใจและรับฟังซึ่งกันและกัน ผู้ร่วมวงสนทนาต้องมีสติรู้ตัว ว่ากำลังพูดอะไร พูดจากสมมุติฐานแบบไหน พูดเพื่ออะไร พูดแล้วทำให้ผู้สนทนาในวงรู้สึกอย่างไร และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อหาความหมายของสิ่งที่กำลังสนทนาร่วมกัน จึงต้องสามารถห้อยแขวนความคิดความเชื่อของตนเอง ชะลอการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ความคิดใหม่ๆ ผุดออกมา โดยไม่โน้มน้าวให้ผู้อื่นมีความคิดเห็นเหมือนตนเอง เป็นต้น
๐ ปัญญาสนทนา (Presencing) การสนทนาก่อพลังปัญญาและสร้างอนาคต เป็นการต่อยอดทักษะของสุนทรียสนทนา เพราะนอกจากการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกันแล้ว ยังต้องมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ จากการสนทนา จนเกิดเป็นความเห็นใหม่ เป็นปัญญาร่วมของกลุ่ม ผู้ร่วมสนทนาจะต้องมองเห็นเรื่องราวจากอดีต เชื่อมโยงกับปัจจุบัน และเห็นแนวโน้มในอนาคต เพื่อช่วยกันกำหนดท่าทีและทิศทางต่ออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง จะช่วยให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ไม่ตื่นตระหนกตกใจ
ที่มา: แกะรอยกระบวนการเรียนรู้ : แนวคิดและการออกแบบ
#เวทีเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง

"ความรู้" และ “การจัดการความรู้”

ความรู้ มีหลายความหมายได้แก่
        1. ความรู้ คือ 
            1) สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้าหรือประสบการณ์ รวมทั้ง ความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ 
            2) ความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ 
            3) สิ่งที่ ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติ 
            4) องค์วิชาในแต่ละสาขา (พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒) 
        2. ความรู้ คือ สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิด เปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับความรู้อื่น จนเกิดเป็นความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ในการสรุปและตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่จำกัดช่วงเวลา  ส่วนสารสนเทศ เป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ วิเคราะห์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหาร จัดการและการตัดสินใจ มีบริบทซึ่งเกิดจากความเชื่อ สามัญสำนึก หรือประสบการณ์ของผู้ใช้สารสนเทศ นั้นๆ มักจะอยู่ในรูปข้อมูลที่วัดได้ หรือจับต้องได้ สารสนเทศอาจมีข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลาที่จะใช้ และขอบข่ายของงานที่จะนำมาใช้ ส่วนข้อมูล เป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลดิบ หรือตัวเลขต่างๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการแปลความ (Hideo Yamazaki) 
        3. ความรู้คือ 
            1) สิ่งที่เมื่อนำไปใช้ จะไม่หมด หรือสึกหรอ แต่จะยิ่งงอกเงย หรืองอกงามขึ้น
            2) สารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ 
            3) สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ 
            4) สิ่งที่เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องการใช้ความรู้นั้น 
            5) สิ่งที่ขึ้นกับบริบท และกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยความต้องการความรู้มี 2 ยุค ซึ่งความรู้ที่เราคุ้นเคยกันเป็น ความรู้ยุคที่ 1 แต่ความรู้ที่เน้นในเรื่องการจัดการความรู้เป็นความรู้ยุคที่ 2 
                ความรู้ยุคที่ 1 เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นโดยนักวิชาการ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เน้นความเป็นเหตุเป็นผล พิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิชาการ มีการจำแนกแยกแยะ เป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชาการ เป็นความรู้ที่เน้นความลึก ความเป็นวิชาการเฉพาะด้าน 
                ความรู้ยุคที่ 2 เป็นความรู้ที่ผูกพันอยู่กับงาน หรือกิจกรรมของบุคคล และองค์กร เป็นความรู้ที่ใช้งานและสร้างขึ้นโดยผู้ปฏิบัติงาน หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเอง โดยอาจสร้างขึ้นจากการเลือกเอาความรู้เชิงทฤษฎี หรือความรู้จากภายนอกมาปรับแต่งเพื่อการใช้งาน หรือสร้างขึ้นโดยตรงจากประสบการณ์ในการทำงาน ความรู้เหล่านี้มีลักษณะบูรณาการและมีความจำเพาะต่อบริบทของงาน กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน และองค์กรนั้นๆ (นพ.วิจารณ์ พาณิช) 
        ความรู้ อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 
        1. ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์จนเป็นหลักทั่วไป ไม่ขึ้นอยู่กับบริบทใดโดยเฉพาะ สามารถรวบรวมและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสารและรายงานต่างๆ ซึ่งทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เป็น ความรู้ที่ไม่ค่อยสำคัญต่อความได้เปรียบในการแข่งขันเพราะใครๆ ก็เข้าถึงได้ 
        2. ความรู้ที่ฝังในตัวคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล อาจอยู่ในใจ (ความเชื่อ ค่านิยม) อยู่ในสมอง (เหตุผล) อยู่ในมือ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (ทักษะ) เกิดจาก ประสบการณ์การเรียนรู้ หรือพรสวรรค์ต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทใดบริบทหนึ่งโดยเฉพาะ สื่อสาร หรือ ถ่ายทอดในรูปของ ตัวเลข สูตร หรือลายลักษณ์อักษรได้ยาก พัฒนาและแบ่งปันกันได้ เป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ความรู้ในองค์กรส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ฝังในตัวคน เปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนกับความรู้ที่ชัดแจ้ง อาจได้เป็น 80 : 20 ซึ่งเปรียบเทียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเปรียบเสมือนความรู้ที่ชัดแจ้ง เป็นส่วนที่น้อยมาก ประมาณ 20 % ของทั้งหมด ในขณะที่ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งเปรียบเสมือนความรู้ที่ฝังในตัวคน เป็นส่วนที่ใหญ่มาก ประมาณ 80 % ของทั้งหมด (ดังภาพที่ 1)



ภาพที่ 1 การเปรียบเทียบความรู้ที่ชัดแจ้ง กับความรู้ที่ฝังอยู่ในคน 
(ที่มา: คู่มือการจัดการความรู้ กรมควบคุมโรค พ.ศ. 2557) 

การปรับเปลี่ยน และการสร้างความรู้ ทั้งสองประเภทนี้ เกิดขึ้นได้ 4 รูปแบบ ดังนี้ 
        1. Socialization (S) การแบ่งปันและสร้าง Tacit Knowledge จาก Tacit Knowledge ของผู้ที่สื่อสารระหว่างกัน โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรง เช่น หัวหน้างานสอนงานให้ลูกน้องด้วยการพูดคุย ทำให้ดู อาจให้ลูกน้องลองทำด้วย ลูกน้องก็ได้รับความรู้จากหัวหน้างาน บางทีความรู้ใหม่ก็เกิดขึ้นจากการสอนงานนี้ด้วย 
        2. Externalization (E) การแปลง Tacit Knowledge ให้กลายเป็น Explicit Knowledge เช่น ลูกน้องเมื่อเรียนรู้วิธีทำงานจากหัวหน้าแล้ว จดบันทึกความรู้ หรือเขียนเป็นรายงานความรู้ คนอื่นๆ ก็สามารถใช้เป็นแหล่งความรู้ต่อไป 
        3. Combination (C) การสร้าง Explicit Knowledge จาก Explicit Knowledge ด้วยการรวบรวมความรู้ประเภท Explicit Knowledge จากแหล่งต่างๆ มาสร้างเป็น Explicit Knowledge ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน เช่น หัวหน้างานทำการรวบรวมความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งนอก และในองค์กร รวมทั้งความรู้ที่มีอยู่เดิมมาสรุปเป็นความรู้ใหม่ และเผยแพร่ หรือทำการเรียบเรียงความรู้จากภาษาต่างประเทศ         
        4. Internalization (I) การแปลง Explicit Knowledge มาเป็น Tacit Knowledge โดยการนำความรู้เชิงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความรู้เพิ่ม เช่น หัวหน้างานค้นคว้าศึกษาวิธีทำงานจากเอกสารต่างๆ นำมาปรับใช้กับงานของตนเอง จนเกิดทักษะและความชำนาญในเรื่องนั้น เกิดเป็น Tacit Knowledge ของตน ซึ่งสามารถจะบันทึกออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Externalization) หรือแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ (Socialization) ต่อไป 
        เมื่อดำเนินการปรับเปลี่ยน และสร้างความรู้ 2 ประเภทนี้ ไปจนครบรอบ Socialization – Externalization – Combination – Internalization ความรู้จะสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง สี่กระบวนการนี้ สามารถเกิดต่อไปได้เรื่อยๆ ทำให้ความรู้ในองค์กรสูงขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด มีลักษณะเป็นเกลียวความรู้ (Knowledge Spiral) นิยมเรียกว่า SECI model (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 ลักษณะเกลียวความรู้ (Knowledge Spiral) หรือ SECI model



การจัดการความรู้ มีหลายความหมายได้แก่
        1. การจัดการความรู้คือ การบริหารจัดการเพื่อให้ “คน” ที่ต้องการใช้ความรู้ ได้รับ “ความรู้” ที่ ต้องการใช้ ใน “เวลา” ที่ต้องการ (Right Knowledge, Right People, Right Time) (American Promotion and Quality Center, APQC)
        2. การจัดการความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในส่วนราชการซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัว บุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์การสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์การมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด (ก.พ.ร.)
        3. การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
            1) บรรลุเป้าหมายของงาน
            2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน
            3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กร ไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และ
            4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน ในที่ทำงาน การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกัน โดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานย่อยขององค์กร เพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม (วิจารณ์ พาณิช)
        4. กิจกรรมที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ได้แก่ (วิจารณ์ พาณิช)
            (1) การพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ปัญหาที่พบบ่อย และแนวทางแก้ปัญหา
            (2) กำหนดผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นคนภายในองค์กร ทำตารางรายชื่อและวิธีติดต่อ
            (3) ดึงเอาความรู้ออกมาจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ และกระจายความรู้ให้แก่ผู้อื่น
            (4) จัดทำโครงสร้างความรู้เพื่อให้ข้อมูลเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และนำไปใช้ได้ง่าย
            (5) จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น โดยอาจเป็นการประชุมตามปกติ หรือผ่านการสื่อสารทางไกลรูปแบบต่างๆ
            (6) จัดกระบวนการกลุ่มให้คนจากต่างพื้นที่ ได้ทำงานแก้ปัญหาร่วมกัน และผลัดกันทำหน้าที่ผู้จัดการ ความรู้
            (7) ค้นหาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในความรู้และทักษะที่เป็นหัวใจของความสำเร็จของ องค์การ และหาทางให้ได้อยู่ในองค์การไปนานๆ
            (8) ออกแบบการฝึกอบรม และกิจกรรม เพื่อการพัฒนาคนในรูปแบบต่างๆ เพื่อประเมิน และพัฒนาความรู้ของแต่ละคนในองค์การ
            (9) ส่งเสริม ให้รางวัล หรือยกย่อง ปฏิบัติการที่นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลและดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปิดบังข้อมูล
            (10) สร้างเครื่องอำนวยความสะดวกในการค้นหา และประยุกต์ใช้ความรู้ 
            (11) วัด “ต้นทุนทางปัญญา” เพื่อหาทางจัดการความรู้ให้ดีขึ้น
            (12) ทำความเข้าใจแนวโน้มของลูกค้า โดยศึกษาข้อมูลจากจุดให้บริการเกี่ยวกับความต้องการความพึงพอใจ และรสนิยมของลูกค้า
        จุดหมายปลายทางของการจัดการความรู้ ไม่ใช่ความเป็นเลิศของการจัดการความรู้ เช่น การมีคลัง ความรู้ที่ทันสมัยครบถ้วน การมีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรอย่างทั่วถึง ฯลฯ ความเป็นเลิศของการจัดการความรู้ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการ จัดการความรู้
องค์กรต่างๆ ดำเนินการจัดการความรู้เพื่อสิ่งต่อไปนี้ (เรียงลำดับตามจำนวนผู้เห็นด้วยจากมากไปน้อย)
        1. ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ
        2. ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม
        3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
        4. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร
        5. เรียนรู้เกี่ยวกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น และเร็วขึ้น
เป้าหมายของการจัดการความรู้ มี 3 ประการ ดังนี้
        1. การพัฒนาคน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหาร ให้มีสมรรถนะ ซึ่งประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะสูงขึ้น ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น โดยที่บุคลากรระดับต้น ระดับกลางจะได้ประโยชน์มากที่สุด
        2. การพัฒนางาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เช่น ผิดพลาดน้อยลง รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิผล เช่น ลดต้นทุน ผลผลิตสูงขึ้น เกิดนวัตกรรม
        3. การพัฒนาองค์กร ทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์/ยุทธศาสตร์ มีศักยภาพใน การแข่งขันสูง สามารถเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน


        โลกปัจจุบัน เต็มไปด้วยวงประชุมมากมายหลายแบบ หลายประเด็น ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักอ...